คู่รัก หลักวิทยาศาสตร์

ใครบอก!! ความรักไม่เกี่ยวกับหลักทางวิทยาศาสตร์

Home / ความรัก ความสัมพันธ์ / ใครบอก!! ความรักไม่เกี่ยวกับหลักทางวิทยาศาสตร์

เมื่อเราเริ่มเข้าสู่ช่วงแห่งความรักทั้งแบบที่แอบชอบเขาหรือโดนเขามาแอบชอบเรานั้น เราต่างก็จะมีอาการหัวใจเต้นแรง หน้าแดง ทำอะไรไม่ถูกเอาแต่คิดถึงเขาอย่างเดียว ไม่เป็นอันทำอะไรเลย ซึ่งเราอาจจะคิดว่ามันสิ่งที่เราทุกคนเป็นกันโดยปกติ แต่นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองเกี่ยวกับระบบฮอร์โมนในร่างกายของมนุษย์ว่าเมื่ออยู่ในช่วงของความรักนั้น ระบบในร่างกายจะเป็นอย่างไร แล้วจะมีฮอร์โมนอะไรบ้างที่ทำให้เรารู้สึกดีในช่วงมีความรัก เราลองไปดูทฤษฎีเหล่านี้กันเลย….

พิสูจน์ได้ ความรักกับหลักวิทยาศาสตร์

ทฤษฎี “ความรัก 3 ตอน”

ก่อนที่เราจะได้เรียนรู้เรื่องความรักอย่างลึดซึ้งกันนั้น เรามาทำความรู้จักกับทฤษฎีรัก 3 ตอน ของ ดร.เฮเลน ฟิชเชอร์ แห่งมหาวิทยาลัยรุทเจอรส์ (Rutgers University) ในนิวเจอร์ซี กันก่อนดีกว่า ซึ่ ดร.ฟิชเชอร์บอกว่า ห้วงความรักของคนเราแบ่งเป็น 3 ตอนด้วยกัน โดยจะมีฮอร์โมนที่แตกต่างกันในร่างกายมาร่วมแสดงบทบาทในแต่ละตอนของการเริ่มมีความรัก ดังนี้

ตอนที่ 1 ช่วงเกิดตัณหา : ตัณหาราคะถูกขับโดยฮอร์โมนเพศ 2 ตัว คือ เทสโทสเทอโรน (Testosterone) และเอสโตรเจน (Oestrogen) เทสโทสเทอโรนเป็นฮอร์โมนที่ไม่ได้มีในเฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่ผู้หญิงก็มีเช่นกัน ดร.ฟิชเชอร์บอกว่า เจ้าฮอร์โมนเพศสองตัวนี้เอง ที่ช่วยควบคุมอาการอยากได้โน่นอยากได้นี่ของเรานั่นเอง

ตอนที่ 2 ช่วงคลั่งรัก : เป็นช่วงที่ทำให้ชีวิตเราผิดเพี้ยนไป ไม่รับรู้ ไม่สนใจสิ่งรอบกาย ไม่กิน ไม่นอน เอาแต่นั่งฝันละเมอถึงแต่คนรัก อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ ถูกควบคุมโดยกลุ่มสารสื่อประสาทที่เรียกว่า โมโนอะมิเนส (Monoamines) ซึ่งประกอบไปด้วย

1. โดพามีน (Dopamine) เป็นสารเคมีในร่างกายที่ทำให้สมองตื่นตัวอยู่ตลอด เช่นเดียวกับนิโคตีนและโคเคอีน
2. นอร์เอพิเนฟรีน (Norepinephrine) หรือรู้จักกันในชื่อของ อะดรีนาลิน (Adrenalin) ที่เป็นตัวการทำให้เราเหงื่อแตกและหัวใจเต้นรัวยามตื่นเต้น
3. เซโรโทนิน (Serotonin) หนึ่งในสารสำคัญที่ทำให้เราเกิดอาการ..ซึม..เศร้า..เหงา..เพราะรักได้

ตอนที่ 3 ช่วงผูกพัน : ไม่มีใครที่สามารถคลั่งรักได้ตลิดชีวิตหรือตลอดเวลา เพราะเมื่อผ่านพ้นไปช่วงเวลาหนึ่ง ความรักของเรากับเขาอาจจะพังทลายลงไปหรือถ้าถ้าผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้ ก็จะเข้าสู่ช่วงประตูววิวาห์แต่งงานกัน ก้าวเข้าสู่อีกหนึ่งช่วงแห่งชีวิตรัก โดยจะมีฮอร์โมน 2 ตัวที่สำคัญก็คือ

1. ออกซีโทซิน (Oxytocin) จากต่อมไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งช่วยกระตุ้นให้เกิดการขับน้ำนมและเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างมารดาและทารก โดยมีการพบว่าออกซีโทซินจะถูกขับออกมาเมื่อชายหญิงมีความสัมพันธ์ทางเพศที่ลึกซึ้ง ทฤษฎีบอกไว้ว่ายิ่งชายหญิงมีความสัมพันธ์กันลึกซึ้งแค่ไหน ความผูกพันก็มีมากขึ้นเท่านั้น
2. วาโซเพรสซิน (Vasopressin) สารสำคัญอีกตัวหนึ่งที่เป็นตัวรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย จะถูกขับออกมาเมื่อร่างกายขาดน้ำ ความตึงเครียดสูง ความดันเลือดสูง หรือเมื่อคู่รักมีความสัมพันธ์ทางเพศ

ทฤษฎีเรื่องการจีบ

เมื่อเราเริ่มแอบชอบใครสักคน เชื่อหรือไม่ว่าภายในเวลาเพียงแค่ 90 วินาที ถึง 4 นาทีของการพูดคุยกันนั้น ระบบภายในร่างกายของเราก้ตัดสินใจได้แล้วว่า เราจะรุกต่อหรือจะชิ่งหนีดี เพราะว่าการพูดคุยกับคนที่เราแอบชอบนั้น เป็นอีกสิ่งที่สามารถบอกให้เราได้รู้ว่าเราจะมีความประทับใจต่อเขามากเพียงใด โดยแบ่งออกเป็นร้อยละ 55 จะมาจากภาษากาย ร้อยละ 38 มาจากน้ำเสียงและความเร็วในการพูด และร้อยละ 7 จากสาระที่เราพูดออกไป ซึ่งหมายความว่าเพียงแต่มีลีลาดี ก็จะมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

การมองตาหรือการสบตากันนั้นก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่สามารถนำมาพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่าเราจะสนใจเข้าต่อไปหรือเปล่า เหมือนกับคำที่เรามักจะได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า “ตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ” นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเมื่อเรารู้สึกสนใจอะไร รูม่านตาของเราจะขยาย นัยน์ตาจะดูกลมโตและเป็นประกาย ซึ่งอาจจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้เขา/เธอรู้ตัวก็เป็นได้ ส่วนสัญญาณอื่นๆ ที่บ่งบอกให้รู้ถึงรัก ได้แก่ การเลียนแบบ เมื่ออยู่ในโลกแห่งรักของสองเรา คนสองคนนี้ก็จะลอกเลียนแบบทุกสิ่งทุกอย่างจากกันโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการเดิน นั่ง พูด บุคลิกท่าทางต่างๆ นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ปรากฏการณ์กระจกเงา” การที่คู่รักทำอะไรที่เหมือนกัน แสดงว่าทั้งคู่เปิดใจให้กัน พร้อมที่จะยอมรับซึ่งกันและกัน นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี

20 love

รักฉันเพราะอะไร?

เมื่อคบหาดูใจกันไปสักพัก หลายคนอาจจะเกิดคำถามขึ้นได้ในใจว่า เราประทับใจซึ่งกันและกันตรงไหน มีเหตุผลไหนบ้างที่ทำให้เราได้มารักกัน ในขณะที่ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราเกิดอาการดังกล่าวได้ โดยชายและหญิงก็จะมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันอยู่ในใจ บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองช่างเลือกขนาดไหน

ความไม่สมดุลเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความบกพร่องของยีนส์ ดังนั้นผู้ชายส่วนมากจึงมองผู้หญิงที่รูปลักษณ์ภายนอก เพื่อยืนยันว่าผู้ชายให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงมีคนคิดสูตรคำนวณหาสัดส่วนของผู้หญิงในอุดมคติออกมา โดยยกให้รูปทรงของนาฬิกาทรายที่มีเอวคอดกิ่วเป็นต้นแบบ สูตรคำนวณมีว่า ขนาดรอบเอว? รอบสะโพก ต้องเท่ากับ 0.7 ถ้าได้ค่าประมาณนี้ หญิงผู้นั้นถือว่ามีสัดส่วนที่ได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้นจากชายทั้งโลก มีการยืนยันทฤษฏีหุ่นนาฬิกาทรายนี้โดยนำค่าสัดส่วนของผู้ชนะการประกวดมิสอเมริกาแต่ละปีมาคิดและพบว่าได้ 0.7 เกือบทุกคน หลายคนเชื่อว่าหญิงที่มีหุ่นนาฬิกาทรายจะมีคุณสมบัติที่ดีที่เหมาะแก่การสืบพันธุ์ด้วย ในขณะที่ผู้ชายมุ่งมั่นเสาะหาหญิงในฝันจากเปลือกนอก ส่วนผู้หญิงเองกลับไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย พวกเธอกลับมองที่ความสามารถในด้านต่างๆ และภาวะผู้นำที่มีอยู่ในตัวของผู้ชายมากกว่า

เป็นไปได้เพราะรัก

เศร้า เหงา เสียใจ โกรธ เพราะรัก อาการนี้อธิบายได้ด้วยผลการศึกษาจากประเทศอิตาลีที่ระบุว่า คนที่กำลังมีความรักมักจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder –: OCD) อาการคือ สติไม่อยู่กะร่องกะรอย คอยแต่กังวลว่าปิดประตู ปิดหน้าต่างแล้วหรือยัง หรือชอบล้างมือบ่อยๆ เพราะคิดว่าไม่สะอาด อะไรทำนองนี้ โรคย้ำคิดย้ำทำมีความสัมพันธ์กับระดับของเซโรโทนิน (Serotonin) แบบปฏิภาคผกผัน ยิ่งเซโรโทนินต่ำ ความเศร้า เหงา โกรธก็จะยิ่งมาก เรื่องนี้ไม่ได้พูดกันลอยๆ มีการวัดระดับเซโรโทนินในกลุ่มทดลองซึ่งเป็นนักศึกษาที่กำลังมีความรัก พบว่าระดับเซโรโทนินในร่างกายของพวกเขาลดลงถึงร้อยละ 40 จากปกติ อย่างไรก็ตาม ผลเสียจากการตกหลุมรักนี้ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปี (โดยที่นักศึกษาเหล่านี้ยังรักษาความสัมพันธ์ฉันท์คนรักเอาไว้ได้) ระดับเซโรโทนินของพวกเขากลับคืนมาสู่ระดับปกติ ช่างเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะหากระดับเซโรโทนินยังต่ำอยู่ โอกาสที่พวกเขาจะเกรี้ยวกราดอาละวาดยิ่งสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชายระดับความต้องการมีเพศสัมพันธ์ก็จะมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

ใครที่เกิดมาคู่กับฉัน

นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่า ฟีโรโมน (Pheromones) จากตัวเรา เป็นกุญแจสำคัญในการคัดสรรคนที่คู่ควรมาเป็นคู่ชีวิต ในเผ่าพันธุ์สัตว์ฟันแทะ (Rodent) ซึ่งมีอวัยวะสำคัญในจมูกที่เรียกว่า Vomeronasal Organ หรือ VNO ฟีโรโมนจากปัสสาวะจะมีความสำคัญมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่ชี้นำการใช้ชีวิตในกลุ่มสังคมของพวกมัน เมื่อมันพบปะกับตัวอื่นๆ มันก็สามารถรู้เพศของตัวนั้นๆ ได้ทันที และจะนำมาซึ่งการจับคู่ในลำดับต่อไป สัตว์ฟันแทะจะมีฟีโรโมนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อถึงเวลาเลือกคู่ มันจะหลีกเลี่ยงคู่ที่มีกลิ่นฟีโรโมนใกล้เคียงกับมัน เพราะต้องการให้ลูกๆ ที่เกิดมาแข็งแรง สดใส ห่างไกลโรค (เช่นเดียวกับลูกมนุษย์) อย่างไรก็ตาม ในพวกเราเหล่ามนุษย์การที่จะประทับใจใครสักคนด้วยการสูดกลิ่นฟีโรโมนจากปัสสาวะเฉกเช่นเดียวกับหนู มันออกจะเกินงามไปสักหน่อย นักวิทยาศาสตร์บอกว่าแค่ฟีโรโมนจากเหงื่อก็สะกิดเราให้รู้ตัวได้แล้ว

เคล้าส์ เวเดไคนด์ จากมหาวิทยาลัยเบิร์น ในสวิตเซอร์แลนด์ ทำการทดลองเพี้ยนๆ ขึ้น โดยขอให้ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งสูดดมเสื้อที่ยังไม่ได้ซักและเต็มไปด้วยกลิ่นเหงื่อจากผู้ชายหลายคน ปรากฏว่าผู้หญิงแต่ละคนจะประทับใจในกลิ่นเหงื่อของผู้ชายที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่แตกต่างจากพวกเธอ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่เกิดขึ้นกับสัตว์ฟันแทะ ผลการศึกษาเสื้อยืดอาบเหงื่อเวอร์ชันของ ดร.มาร์ธา แม็คคลินทอค จากมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก บอกว่าผู้หญิงมักจะสนใจผู้ชายที่มีกลิ่นคล้ายพ่อของตัวเอง ทั้งนี้ด้วยเหตุผล (ที่ไม่ค่อยเห็นแก่ตัวสักเท่าไหร่เลย) ว่าผู้ชายเหล่านี้น่าจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี (เหมือนที่เธอได้รับจากพ่อ) และเขาก็ไม่ใช่คนในตระกูล แม้ว่าเธอจะมั่นใจว่าตระกูลของเธออุดมสมบูรณ์ไปด้วยยีนที่ดีเลิศ แต่การแต่งงานกันในวงศ์ญาตินั้นเสี่ยงเกินไปที่จะเลือกปฏิบัติ เพราะนอกจากจะทำให้ลูกที่เกิดมาอ่อนแอหรือถึงตายได้แล้ว ยังอาจทำให้ลักษณะเด่นบางประการหายไป และยังทำให้ความสมบูรณ์ของพันธุ์ลดต่ำลงได้ในรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นไปตามกฎแห่งพันธุกรรม ดังนั้นการเลือกชายที่มีความใกล้เคียงกับพ่อของเธอจึงเป็นทางออกที่สดใสกว่า

——————————————–

ปล. นักวิทยาศาสตร์ได้ให้นิยามของความรักว่า “ความรักเป็นปฏิกริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเพื่อตอบสนองความต้องการทางพันธุกรรมกับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม” ไม่ว่ารักจะเป็นอะไรก็ตามในความคิดของคน และแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะสรรหาข้อเท็จจริงมากมายมาเฉลยปริศนาแห่งรักให้เรารู้ได้ เราก็ต้องเข้าใจอยู่เสมอว่ารักเกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆ มากมาย ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ แต่ยังรวมถึงปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งการเรียนรู้ด้วย ความรักเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับเรา โดยประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรารู้จักเลือกที่จะรัก รู้จักหยุดเพื่อที่จะเริ่มใหม่ และรู้จักสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ได้มาซึ่งการดำรงพันธุ์ที่เหมาะสม

ที่มา :
http://www.bbc.co.uk/
http://www.economist.com/
http://www.vcharkarn.com/varticle/36850